ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ

เข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสิน ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ

ภายหลังพม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า " พระยาพิชัยดาบหัก "

ประวัติ

ชาติภูมิ

พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. 2284 ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย จ.อุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 4 คน แต่เสียชีวิตไป 3 คน บิดามารดาไม่ปรากฏนาม

วัยเยาว์

เด็กชายจ้อยมีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอ ถ้าจะ ชกมวยให้เก่งต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่ออายุได้ 14 ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉานเพราะเป็นคนขยันและเอาใจใส่ในตำราเรียนคอยรับใช้อาจารย์ และซ้อมมวย ไปด้วย ทั้งหมัด เข่า ศอก และสามารถเตะได้สูงถึง 4 ศอก ในขณะที่เป็นเด็กวัดนั้นเขามักจะถูกกลั่นแกล้งจากเด็กที่โตกว่าเสมอ แต่ในระยะหลังเขาก็สามารถปราบเด็กวัดได้ทุกคนด้วยชั้นเชิงมวย

ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อเฉิด) มาฝากที่วัดเพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักหาทางทะเลาะวิวาทกับจ้อยเสมอ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจาดวัดขึ้นไปทางเหนือโดยมิได้บอกพ่อแม่และอาจารย์ เดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัด ที่วัดบ้านแก่ง จ้อย ได้พบกับครูฝึกมวยคนหนึ่งชื่อ เที่ยง จึงฝากตัวเป็นศิษย์แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี ครูเที่ยงรักนายทองดีมากและมักเรียกนายทองดีว่านายทองดี ฟันขาว (เนื่องจากท่านไม่เคี้ยวหมากพลูดังคนสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวยช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอมา ทำให้ลูกหลานครูเที่ยงอิจฉานายทองดีมากหาทางกลั่นแกล้งต่างๆ นานา นายทองดี ฟันขาว เห็นว่าอยู่บ้านแก่งต่อไปคงลำบาก ประกอบ ครูเที่ยงก็ถ่ายทอดวิชามวยให้จบหมดสิ้นแล้วจึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป

ชื่อเสียงเลื่องลือ

เมื่อเดินถึงบางโพได้เข้าพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือวัดท่าถนน) พอดีกับมีการแสดงงิ้ว จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว สนใจงิ้วแสดง ท่าทางหกคะเมน จึงจดจำไปฝึกหัดไปฝึกหัดจนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมดสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบายจากนั้นก็ลาพระสงฆ์วัดวังเตาหม้อขึ้น ไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ครูเมฆ ซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวยมาก ครูเมฆรักนิสัยใจคอจึงถ่ายทอดวิชาการชกมวยให้จนหมดสิ้น ขณะนั้นนายทองดี ฟันขาว อายุได้ 18 ปี ต่อมาได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกไม่สามารถป้องกันได้ ถูกเตะสลบไปนาน ประมาณ 10 นาที ครูนิลอับอายมากจึงท้าครูเมฆชกกัน นายทองดี ฟันขาว ได้กราบอ้อนวอนขอร้อง ขอชกแทนครูเมฆ และได้ตลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึง 4 ซี่ เลือดเต็มปากสลบอยู่เป็นเวลานาน ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง นายทองดีอยู่กับครูเมฆประมาณ 2 ปี ก็ขอลาไปศึกษา การฟันดาบ ที่เมืองสวรรคโลก ด้วยความฉลาดมีไหวพริบ เขาใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็เรียนฟันดาบสำเร็จเป็นที่พิศวงต่อครูผู้สอนยิ่งนัก หลังจากนั้น ก็ไปเที่ยวเมืองสุโขทัยและเมืองตากระหว่างทางได้รับศิษย์ไว้ 1 คน ชื่อบุญเกิด ครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ทองดีได้ช่วยบุญเกิดไว้โดยการแทงมีดที่ปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว

รับราชการ ทหารเอกพระเจ้าตาก

พระยาพิชัยต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งศึกโปสุพลายกทัพมาตีเมืองพิชัยจนดาบคู่กายของท่านหัก

เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่เจ้าเมืองตาก (พระเจ้าตากสินมหาราช) จัดให้มีมวยฉลองด้วย นายทองดี ฟันขาว ดีใจมากเข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าว ซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตาก และมีอิทธิพลมาก นายทองดี ฟันขาว ใช้ความว่องไวใช้หมัดศอก และเตะขากรรไกรจนครูห้าวสลบไปเจ้าเมืองตากจึงถามว่าสามารถชกนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ นายทองดี ฟันขาว บอกว่าสามารถชกได้อีก เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างสูงใหญ่ ผิวดำ นายทองดี เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบไป

เจ้าเมืองตากพอใจมากให้เงิน 3 ตำลึง และชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (พระเจ้าตากสิน) ตั้งแต่บัดนั้น รับใช้เป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างไกล้ชิด และเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อม กรุงศรีอยุธยา

พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและทหารหาญ ได้เข้าปะทะต่อสู้จนชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร ได้เข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ พระเจ้าตากสินได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว พระเจ้าตากสินขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรีและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์

ความเป็นมาของชื่อ "พระยาพิชัยดาบหัก"

ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน พระเจ้าตากพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย

ในปี พ.ศ. 2313 - 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ก็สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคุณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก "การศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)

ถวายชีวิตเป็นราชพลี

พระปรางค์วัดราชคฤห์วรวิหาร สถานที่บรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหัก

เมื่อปี พ.ศ. 2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันท์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์พระเจ้าตากสินฯ และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสำเร็จโทษตน เป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีพระองค์จึงได้ทรงรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางคนี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน

พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญรวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป

ต้นตระกูล “วิชัยขัทคะ”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ได้พระราชทานนามสกุลของตระกูลพระยาพิชัยดาบหักว่า “วิชัยขัทคะ” อ่านว่า ( วิ-ไช-ขัด-ทะ-คะ ) ซึ่งแปลโดยอนุโลมว่า “ดาบวิเศษ” [1]

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก


อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเกียรติในเรื่องความ องอาจ กล้าหาญ รักชาติ และเสียสละของท่าน ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และนายเวทน์ นิจถาวร ผู้ว่าราชการขณะนั้นได้พร้อมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐานไว้หน้าศาลากลางจังหวัด และทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นในระหว่างวันที่ 7 - 13 มกราคม ของทุกปี จะจัดงานเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่าน ถือเป็นงานประจำปี เรียกชื่องานว่า "งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด"

และในบริเวณอนุสาวรีย์ยังมี "พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก" เป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และ "พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย" ที่ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลองสนามรบ และวิถีชีวิตผู้คนเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ


ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก Reviewed by phichai.com on 2/20/2009 Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.